ประเพณีบุญบั้งไฟ จังหวัดยโสธร





 “นิทานพื้นบ้านเล่าสืบต่อกันมา  ผาแดงนางไอ่  พระยาคันคาก  ล้วนกล่าวถึงการจุดบั้งไฟถวายแด่พญาแถนเพื่อเป็นการขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล หลาบสิบปีได้สืบทอดงานประเพณีบุญบั้งไฟความสวยงามของการตกแต่งขบวนที่ยิ่งใหญ่  ควันสีขาวพุ่งทะยานไปตามบั้งไฟแสนที่ขึ้นสู่ท้องฟ้า  ตามมาด้วยเสียงดังสนั่น  และเสียงลุ้นของผู้คน  สุดเร้าได้ทุกครั้งไป”
เมื่อถึงเดือน ๖ ชาวอีสานจะมีการจัดงานประเพณีที่สำคัญ  หนึ่งในฮีตสิบสอง จากความเชื่อในการบูชาพญาแถนให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล พร้อมเข้าสู่การทำนาครั้งใหม่  และกล่าวกันว่าหากหมู่บ้านใด  ชุมชนไหนมิได้จัดงานประเพณีนี้ขึ้นในปีนั้นๆ  ฝนก็จะไม่ตก พื้นดินก็จะแห้งแล้งไม่สามารถทำการเพาะปลูกใดๆ ได้
เมื่อถึงวันงาน ก่อนการประกวดประชันบั้งไฟประเภทต่างๆจะมีขบวนแห่บั้งไฟตกแต่งด้วยสีสันที่สวยงามตามมาด้วยเสียงดนตรีบรรเลงให้จังหวะในการเซิ้งบั้งไฟ  เซิ้งกระติบ  ฟ้อนขาลาย  ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวอีสานและอีกหนึ่งสีสัน คือ ขบวนแห่การแต่งกายล้อเลียนบุคคลผู้ชายบางคนสวมใส่ชุดหญิงสาวออกอากัปกิริยาอ่อนช้อย  สร้างเสียงหัวเราะ  และความสนุกสนานให้ผู้พบเห็น
การแข่งขันบั้งไฟของยโสธรมีการแบ่งเป็นประเภทแฟนซีบั้งไฟขนาดเล็กมีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒ นิ้ว บรรจุดินประสิวไม่เกิน ๔ กิโลกรัม  เน้นที่ความสวยงาม  รวมทั้งลีลา  เมื่อจุดขึ้นฟ้าบางทีมอาจมีร่มหลากสีกางออก  หรือมีเสียงประกอบ  และประเภทบั้งไฟแสนซึ่งใช้แข่งขันกัน  โดยนับจากเวลาที่บั้งไฟขึ้นลอยอยู่บนท้องฟ้า  บั้งไฟของใครขึ้นนานที่สุดสังเกตจากหางที่ตกลงสู่พื้นก็เท่ากับว่าขึ้นได้สูงและได้รับชัยชนะในที่สุด
เมื่อถึงเวลาแข่งขันแต่ละทีมตระเตรียมความพร้อมก่อนจุดบั้งไฟให้ทะยานออกจากฐานพร้อมด้วยเสียงบั้งไฟแหวกอากาศที่แสดงถึงความเร็วทิ้งควันสีขาวไปตามเส้นทางสู่ท้องฟ้าของใครยิ่งสูงอยู่บนฟ้าได้นานก็จะได้รับชัยชนะส่วนทีมที่พ่ายแพ้บั้งไฟระเบิดหรือไม่ขึ้นก็ต้องถูกกระชากลากลงไปในบ่อโคลนเป็นที่สนุกสนานอันเป็นการสานความสามัคคีระหว่างชุมชน และสร้างความประทับใจให้แก่ผู้เข้าร่วมงานทุกครั้งไป
          –  วันเวลาการจัดงาน : ช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี
          –  สถานที่จัดงาน : ณ สวนสาธารณะพญาแถน  และเขตเทศบาลเมืองยโสธร


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น