ศาสนา



วันวิสาขบูชา





            วันวิสาขบูชา (บาลีวิสาขปูชาอังกฤษVesak) เป็นวันสำคัญสากลทางพระพุทธศาสนาสำหรับชาวพุทธทุกนิกายทั่วโลก ทั้งเป็นวันหยุดราชการในหลายประเทศ และวันสำคัญในระดับนานาชาติตามมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เพราะเป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา 3 เหตุการณ์ด้วยกัน คือ การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธโคดม โดยทั้งสามเหตุการณ์ได้เกิด ณ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขะ (ต่างปีกัน) ชาวพุทธจึงถือว่า เป็นวันที่รวมเกิดเหตุการณ์อัศจรรย์ยิ่ง และเรียกการบูชาในวันนี้ว่า "วิสาขบูชา" ย่อมาจาก "วิสาขปูรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ" อันเป็นเดือนที่สองตามปฏิทินของอินเดีย ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย และมักตรงกับเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายนตามปฏิทินจันทรคติของไทย โดยในประเทศไทย ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 7 แต่ประเทศอื่นที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท และไม่ได้ถือคติตามปฏิทินจันทรคติไทย จะจัดพิธีวิสาขบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 แม้ในปีนั้นจะมีเดือน 8 สองหนตามปฏิทินจันทรคติไทยก็ตาม ส่วนในกลุ่มชาวพุทธมหายานบางนิกายที่นับถือว่า เหตุการณ์ทั้ง 3 นั้นเกิดในวันต่างกันไป จะมีการจัดพิธีวิสาขบูชาต่างวันกันตามความเชื่อในนิกายของตน ซึ่งไม่ตรงกับวันวิสาขบูชาตามปฏิทินของชาวพุทธเถรวาท



ความสำคัญ
วันวิสาขบูชาเป็นวันที่ระลึกถึงวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งตรงกับวันเพ็ญ เดือนวิสาขมาส (เดือน 6) ตรงกันทั้ง 3 คราว คือ
  • เช้าวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี เจ้าชายสิทธัตถะ ประสูติ ที่พระราชอุทยานลุมพินีวันระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับเทวทหะ
  • เช้ามืดวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี เจ้าชายสิทธัตถะ ตรัสรู้ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม หลังจากออกผนวชได้ 6 ปี ปัจจุบัน สถานที่แห่งนี้เรียกว่า พุทธคยา เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย
  • หลังจากตรัสรู้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงออกประกาศพระธรรมวินัยและโปรดเวไนยสัตว์เป็นเวลา 45 ปี เมื่อพระชนมายุได้ 80 พรรษา ก็ เสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อวันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ณ สาลวโนทยาน ของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ (ปัจจุบันอยู่ในเมืองกุสีนคระ รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย)
เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญทั้ง 3 เหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้น เกิดขึ้นตรงกันในวันเพ็ญ เดือน 6 ชาวพุทธจึงเรียกการบูชาในวันนี้ว่า "วันวิสาขบูชา" ซึ่งแปลว่า การบูชาในวันเพ็ญเดือนหก (บางแห่งเรียกว่า วันพระพุทธเจ้า หรือ พุทธชยันตี)

วันประสูติ




เหตุการณ์ในวันประสูติเป็นเหตุการณ์สำคัญลำดับแรกของพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในวันเพ็ญ เดือนวิสาขมาส โดยพระพุทธเจ้าหรือพระนามเดิม "เจ้าชายสิทธัตถะ" ได้ประสูติในพระบรมศากยราชวงศ์ เป็นพระราชโอรสแห่งพระเจ้าสุทโธทนะศากยราชา ผู้ทรงดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ และ พระนางสิริมหามายา ศากยราชเทวี ผู้เป็นพระราชมเหสีแห่งพระเจ้าสุทโธทนะ โดยเจ้าชายสิทธัตถะทรงดำรงตำแหน่งศากยมกุฏราชกุมาร ผู้จักได้รับสืบพระราชบัลลังก์เป็นกษัตริย์แห่งกรุงกบิลพัสดุ์สืบไป
จากหลักฐานชั้นบาลี (พระไตรปิฎก) และอรรถกถา กล่าวว่า หลังจากพระโพธิสัตว์ผู้ดำรงอยู่ในดุสิตเทวโลกได้บำเพ็ญพระบารมีครบถ้วนแล้ว ได้ทรงรับคำอาราธนาเพื่อจุติลงมาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์จึงได้จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตลงมาสู่พระครรภ์ของพระนางสิริมหามายา เมื่อเวลาใกล้รุ่ง วันพฤหัสบดี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปี ระกา ก่อนพุทธศักราช 80 ปี
เมื่อพระนางสิริมหามายาทรงพระครรถ์ครบถ้วนทศมาส (10 เดือน) ในวันเพ็ญ เดือนวิสาขมาส (ตรงกับ วันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 80 ปี) พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะเสด็จพระราชดำเนินกลับไปประสูติพระราชบุตรยังเมืองเทวทหะอันเป็นเมืองบ้านเกิดของพระองค์ แต่ขณะเสด็จพระราชดำเนินได้เพียงกลางทางหรือภายในพระราชอุทยานลุมพินีวันซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์และเมืองเทวทหะต่อกัน พระองค์เกิดประชวรพระครรภ์จะประสูติ อำมาตย์ผู้ตามเสด็จจึงจัดร่มไม้สาละถวาย พระนางจึงประสูติพระโอรส ณ ใต้ร่มไม้สาละนั้น โดยขณะประสูติพระนางประทับยืน พระหัตถ์ทรงจับกิ่งสาละไว้ เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติแล้ว (โดยอาการที่พระบาทออกจากพระครรภ์ก่อน) พระโพธิสัตว์ได้ทรงพระดำเนินไปได้ 7 ก้าว และได้ทรงเปล่งอาสภิวาจา (วาจาประกาศความเป็นผู้สูงสุด) ขึ้นว่า
อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส เชฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส เสฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส.
อยมนฺติมา ชาติ. นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว.
คำแปล : เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก, เราเป็นผู้เจริญที่สุดแห่งโลก, เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุดแห่งโลก. ชาตินี้ เป็นชาติสุดท้าย. บัดนี้ ภพใหม่ย่อมไม่มี ดังนี้


วันออกผนวช



เหตุการณ์การออกผนวชจากหลักฐานชั้นต้น คือ พระไตรปิฎก กล่าวว่า เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะอายุได้ 29 พรรษา ได้ทรงปรารภเหตุคือ ความแก่ เจ็บ ตาย ที่มีอยู่ทุกคนเป็นธรรมโลก ไม่มีใครจะรอดพ้นไปได้ แต่เพราะว่ามิได้ฟังคำสั่งสอนของผู้รู้ จึงทำให้มัวแต่มานั่งรังเกียจเหตุเหล่านั้นว่าเป็นของไม่ควรคิด ไม่ควรสนใจ ทำให้คนเราทั้งหลาย มัวมาแต่ลุ่มหลงอยู่ในกิเลสทั้งหลายเพราะความเมา 3 ประการ คือ เมาว่าตัวยังหนุ่มยังสาวอยู่อีกนานกว่าจะแก่ 1 เมาว่าไม่มีโรคอยู่และโรคคงจะไม่เกิดแก่เรา 1 เมาว่าชีวิตเป็นของยั่งยืน 1 มัวแต่ใช้ชีวิตทิ้งไปวัน ๆ กล่าวคือ ทรงดำริว่า
...มนุษย์ทั้งหลายมีความทุกข์เกิดขึ้นครอบงำอยู่ตลอดเวลาก็จริง เกลียดความทุกข์อยู่ตลอดเวลาก็จริง
แต่ทำไมมนุษย์ทั้งหลายยังมัวแสวงหาทุกข์ร้อนใส่ตัวอยู่ตลอดเวลา แล้วทำไม เราต้องมามัวนั่งแสวงหาทุกข์ใส่ตัว (ให้โง่) อยู่อีกเล่า!
— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. ปาสราสิสุตฺต โอปทฺทมวคฺค อุปริ. ม. มู. ม. 12/316/316
ด้วยความคิดเช่นนี้ ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะถึงกับตั้งพระทัยออกผนวชด้วยดำริว่า



วันตรัสรู้


เหตุการณ์การตรัสรู้พระบรมสัมมาสัมโพธิญาณของเจ้าชายสิทธัตถะนี้ เป็นเหตุการณ์สำคัญลำดับที่สองของพระพุทธเจ้าที่ได้เกิดในวันเพ็ญ เดือนวิสาขมาส ซึ่งเหตุการณ์นี้ถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญมากที่สุดของพระพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนา โดยถือได้ว่าเป็นการเกิดครั้งที่สองของเจ้าชายสิทธัตถะ คือ ครั้งแรกนั้นเพียงเกิดเป็นมนุษย์ แต่การตรัสรู้นี้ถือว่าเป็นการเกิดใหม่อีกครั้ง เป็นการเกิดที่หาได้โดยยาก เป็นการเกิดที่สมบูรณ์พร้อมด้วยอริยผล รู้แจ้งซึ่งสรรพกิเลสทั้งปวง หลุดพ้นจากบ่วงแห่งมาร คือ ทุกข์และสุขทั้งปวงได้หมดสิ้น เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะเป็น "พระสัมมาสัมพุทธเจ้า" แปลว่า ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง (ผู้ไม่ได้รับบัญชาจากใคร ผู้ไม่ได้รับโองการจากพระผู้สร้าง หรือเทพเทวดาองค์ไหน) เป็นการ "รู้แจ้งโลกทั้งปวง" ที่เจ้าชายสิทธัตถะในฐานะมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งพึงกระทำได้ และทุกคนมีสิทธิ์ที่จะ "รู้" เหมือนที่พระองค์ทรงรู้ด้วยเหมือนกัน ดังนั้น จึงทำให้มีผู้เรียกพระธรรมวินัยหรือคำสั่งสอนของพระองค์ว่า "พระพุทธศาสนา" แปลว่า "ศาสนาของผู้รู้แจ้ง - ศาสนาของผู้ (ปฏิบัติเพื่อ) หลุดพ้นจากกิเลสทั้งมวล


เมื่อรู้ว่าการเกิดมี (ทุกข์) เป็นโทษแล้ว เราพึงแสวงหา "นิพพาน" อันไม่มีความเกิด อันเป็นธรรมที่เกษมจากเครื่องร้อยรัด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่าเถิด

เมื่อทรงออกผนวชแล้ว พระองค์ทรงเข้าศึกษาในสำนักลัทธิต่าง ๆ เช่น สำนักอาฬารดาบส รามบุตร และสำนักอุทกดาบส รามโคตร ได้บรรลุสมาบัติ 8 สิ้นความรู้เจ้าสำนักทั้งสอง แต่พระองค์ยังไม่ทรงพอพระทัยเพราะสมาบัติทั้ง 8 นั้น ไม่สามารถทำให้พระองค์ตรัสรู้ได้ จึงทรงออกจากสำนักของอาจารย์ทั้งสอง เสด็จไปถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เป็นสถานที่รมณียสถาน มีป่าชัฏ แม่น้ำใสสะอาด และมีโคจรคาม (สถานที่บิณฑบาต) อยู่โดยรอบ จึงทรงตั้งพระทัยที่จะบำเพ็ญเพียรอยู่ ณ ที่แห่งนี้

ในช่วงแรกนั้น พระองค์ทรงบำเพ็ญเพียรทางกาย คือ "ทุกกรกิริยา" คือ การบำเพ็ญเพียรที่นักพรตผู้บำเพ็ญตบะในสมัยนั้นยกย่องว่าเป็นยอดของการบำเพ็ญเพียรทั้งปวง 3 ประการ โดยในระหว่างบำเพ็ญเพียร ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 คือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ผู้เป็นพราหมณ์ (โกณฑัญญะ) และบุตรแห่งพราหมณ์ (ปัญจวัคคีย์ที่เหลือ) ที่ได้ร่วมงานทำนายลักษณะมหาบุรุษแห่งเจ้าชายสิทธัตถะ (ในคราว 5 วันหลังจากประสูติ) ว่า "ถ้าเจ้าชายสิทธัตถะออกผนวช จักได้เป็นศาสดาเอกของโลก" เมื่อท่านเหล่านั้นได้ทราบข่าวการออกผนวชของเจ้าชายสิทธัตถะ จึงชักชวนกันออกบวชเพื่อตามหาเจ้าชาย และได้พบเจ้าชายสิทธัตถะในขณะกำลังบำเพ็ญทุกกรกิริยาจึงคอยเฝ้าอยู่ปฏิบัติ ต่อมา เมื่อพระองค์ได้ทรงบำเพ็ญเพียรถึงขั้นยวดยิ่งแล้วแต่ยังไม่ตรัสรู้ พระองค์ได้ทราบอุปมาแห่งพิณ 3 สาย ว่าการปฏิบัติเช่นนี้เป็นหนทางอันสุดโต่งเกินไป จึงได้ละทุกกรกิริยาเสีย หันกลับมาเสวยอาหาร เหล่าปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 จึงคิดว่าพระองค์ทรงคลายความเพียรทางกายด้วยทุกกรกิริยา ไม่มีโอกาสตรัสรู้ได้ จึงพาพวกละทิ้งพระองค์ไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี

วันตรัสรู้

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะกลับมาเสวยพระกระยาหารจนพระวรกายกลับมามีพระกำลังขึ้นเหมือนเดิมแล้ว จึงทรงเปลี่ยนมาเริ่มบำเพ็ญเพียรทางใจต่อไป จนล่วงเข้าเช้าวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนวิสาขมาส หลังบรรพชาได้ 6 ปี นางสุชาดา ธิดานายบ้านอุรุเวลาเสนานิคม ได้นำข้าวมธุปายาสไปถวายพระองค์ขณะประทับอยู่ ณ ต้นไทรใกล้กับบ้านของนาง ด้วยคิดว่าพระองค์เป็นเทวดา เพราะวันนั้นพระองค์มีรัศมีผ่องใส จนเมื่อทรงรับเสวยข้าวมธุปายาสแล้วจึงได้ทรงนำถาดทองคำไปอธิษฐานลอยในแม่น้ำเนรัญชรา
จวบจนเวลาเย็น ได้ทรงรับถวายหญ้าคา (หญ้ากุศะ) 8 กำมือ จากนายโสตถิยะพราหมณ์ ทรงนำไปปูลาดเป็นโพธิบัลลังก์ ณ ใต้ต้นอัสสถะพฤกษ์ (หลังจากการตรัสรู้จึงได้ชื่อใหม่ว่า "ต้นพระศรีมหาโพธิ์" หรือ "ต้นโพธิ์") ต้นหนึ่ง ริมฝั่งน้ำเนรัญชรา ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก หันพระปฤษฏางค์ (หลัง) ไปทางลำต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงอธิษฐานในพระทัยว่า "หนัง เอ็น กระดูก จักไม่เหลืออยู่ เนื้อและเลือดในสรีระ จักเหือดแห้งไปก็ตามที เมื่อยังไม่ลุถึงประโยชน์อันบุคคลจะลุได้ด้วยกำลังของบุรุษ (การตรัสรู้) ด้วยความเพียรของบุรุษ (มนุษย์) ด้วยความบากบั่นของบุรุษแล้ว จักหยุดความเพียรนั้นเสีย เป็นไม่มีเลย"

จากนั้น พญามารได้ยกพลเสนามารมาพจญ พระองค์ต้องต่อสู้ด้วยพระบารมี 10 ทัศ กล่าวในแง่ธรรมาธิษฐาน คือ ทรงต่อสู้กับกิเลสภายในใจจนทรงเอาชนะได้ด้วยพระบารมี คือ ความลำบากในการบำเพ็ญความดีทั้งปวง อันทรงได้สั่งสมมาตลอดแต่ครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงต่อสู้จนพญามารพ่ายแพ้ไปตอนพระอาทิตย์จะตกแล้ว พระองค์จึงทรงเริ่มเจริญสมถภาวนา ทำจิตใจให้เป็นสมาธิ จนบรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน ตามลำดับ แล้วทรงทำให้ฌานอันเป็นองค์แห่งปัญญา 3 ประการ เกิดขึ้นในยามทั้ง 3 คือ
1.ปฐมยาม ทรงบรรลุ "ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ" คือ ทรงสามารถระลึกชาติได้
2.มัชฌิมยาม ทรงบรรลุ "จุตูปปาตญาณ" คือ รู้การตายการเกิดของสัตว์ทั้งปวง หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่าได้ ทิพยจักษุญาณ คือ ตาทิพย์
3.ปัจฉิมยาม พระองค์ได้ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท คือ ธรรมที่อาศัยซึ่งกันและกัน เกิดขึ้นเป็นเหตุเป็นผลของกันและกันต่อเนื่องเสมือนกับลูกโซ่ จนได้รู้แจ้งซึ่งอริยสัจธรรม 4 ประการ คือ
·         ทุกข์ ความทุกข์ สภาวะที่ทนได้ยาก ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ (ปัญหา)
·         สมุทัย สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ (สาเหตุของปัญหา)
·         นิโรธ ความดับไปซึ่งต้นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ (จุดมุ่งหมายในการแก้ปัญหา)
·         มรรค ทนทางที่จะดับทุกข์ได้ (วิธีการแก้ปัญหา)
คำอธิบาย: http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/1/1a/Cquote2.svg/20px-Cquote2.svg.png
— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลีมหาวาร. สํ. 19/528/1664

แล้วพระองค์จึงทรงบรรลุซึ่ง "อาสวักขยญาณ" คือ ความรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวกิเลสทั้งปวง เมื่อนั้นจิตของพระองค์ก็หลุดพ้นจากกิเลสและอาสวะทั้งปวง ไม่มีความยึดถือมั่นด้วยตัณหาอุปาทาน อันเป็นการได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างสมบูรณ์ ในยามที่ 3 แห่งคืนวิสาขมาส ก่อนพุทธศักราช 45 ปี
ตั้งแต่นั้น พระองค์ทรงได้รับการถวายพระนามบัญญัติโดยคุณนิมิตแห่งพระองค์ว่า "อรหํ" เป็นพระอรหันต์ผู้ห่างไกลจากกิเลสทั้งปวง และ "สมฺมาสมฺพุทฺโธ"เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ได้ตรัสรู้ชอบได้โดยลำพังพระองค์เอง หามีผู้ใดเป็นครูอาจารย์ไม่ ต่อมา พระองค์ได้ทรงนำสิ่งที่พระองค์ทรงรู้แจ้งในวันตรัสรู้นี้มาเผยแก่หมู่ชนทั้งหลาย พระองค์จึงทรงได้รับขนานพระนามว่า "สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า" สืบมา

วันปรินิพพาน
พระพุทธองค์ทรงปฏิบัติดำรงตนในฐานะพระบรมศาสดา เผยแผ่พระธรรมวินัย คือ พระพุทธศาสนาแก่พหูชนชาวชมพูทวีปเป็นเวลากว่า 45 ปี ทำให้พระศาสนาตั้งหลักฐานอย่างมั่นคง ณ ชมพูทวีปกว่าพันปี และพระพุทธศาสนาได้ขยายออกไปทั่วแผ่นดินเอเชียนับแต่นั้นมา จวบจนพระพุทธองค์มีพระชนมายุ 80 พรรษา มีพระวรกายชราภาพเสมือนคนทั่วไป พระองค์ตรัสว่า ศาสนาของพระองค์ได้ทรงตั้งมั่นแล้ว ทรงทำหน้าที่แห่งพระพุทธเจ้าบริบูรณ์แล้ว ในเวลาสามเดือนก่อนจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ขณะพระองค์ประทับอยู่ ณ ปาวาลเจดีย์ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เมืองเวสาลี ได้ตรัสอภิญญาเทสิตธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วพระองค์ทรงทำการปลงพระชนมายุสังขารว่า
คำอธิบาย: http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/4/4d/Cquote1.svg/20px-Cquote1.svg.png
...ภิกษุทั้งหลาย! บัดนี้ เราจักเตือนท่านทั้งหลาย: สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา..., ตถาคตจักปรินิพพาน โดยกาลล่วงไปแห่งสามเดือนจากนี้...


ปรินิพพาน
จากนั้น พระองค์ทรงนิ่งเงียบ หลับตา ทรงเข้าอนุปุพพวิหารสมาบัติ 9 มีรูปฌาน 4 คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน จากนั้นเป็นอรูปฌาน 4 คือ อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ (เรียกรวมเป็น สมาบัติ 8) และ นิโรธสมาบัติ 1 ชื่อเต็มคือสัญญาเวทยิตนิโรธ แล้วย้อนลงมาตามลำดับจนถึงปฐมฌาน แล้วย้อนขึ้นอีกเป็น ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌานเป็นปัจฉิมสมาบัติ เมื่อออกจากจตุตถฌานจึง เสด็จดับขันธปรินิพพาน
พระพุทธองค์ตรัสถึงความดับสมุทัยอันเป็นเหตุแห่งความดับทุกข์ (เสด็จดับขันธปรินิพพาน) ไว้เมื่อคราวทรงพระชนม์อยู่ว่า
...ต้นไม้ เมื่อโคนต้นยังอยู่ ไม่มีอุปัทวะ แม้ถูกตัด (ส่วนบน) แล้วก็งอกได้อีกอยู่นั่น ฉันใดก็ดี แม้ทุกข์นี้ก็ฉันนั้น เมื่อตัณหานุสัยยังมิได้ถูกถอนทิ้งแล้ว ก็ได้เกิดร่ำไป...
— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลีขุ. ธ. 25/338/138
กล่าวคือ พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานเพราะความดับไปแห่งสมุทัย คือ ได้ทรงถอนเสียสิ้นซึ่งต้นและราก กิเลสตัณหาอันเป็นสาเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวงนี้แล้วเมื่อในวันตรัสรู้ การเสด็จดับขันธปรินิพพานนี้จึงเป็นการตายครั้งสุดท้ายของพระพุทธองค์ โดย "สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ" (สิ้นตัณหาเมื่อคราวตรัสรู้ และสิ้นขันธ์ห้า เมื่อคราวปรินิพพาน)
เมื่อนั้นได้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ โลมชาติลุกขึ้นชูชัน กลองทิพย์บรรลือลั่นไปในอากาศ ไว้อาลัยแด่การจากไปของพระพุทธองค์ ผู้ทรงเป็นบรมครูของโลก กายของพระองค์สิ้นเชื้อคือตัณหาที่จะนำไปเกิดในภพใหม่ ครั้นกายแตกดับแล้ว ถึงความเป็นของว่าง ไม่มีอะไรเหลือสำหรับส่วนผสมของกายในภพต่อไป พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานในปัจฉิมราตรี วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 1 ปี ตามการนับของไทย(หากเป็นกัมพูชาหรือพม่า จะนับเป็น พ.ศ. 1 ทันที ดูเพิ่มที่ พุทธศักราช)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น